พระสงฆ์และจีวรนั้นคนทั่วไปมองว่าเป็นของสูง ส่วนบทสวดมนต์ที่ประกอบด้วยพุทธพจน์นั้น ก็ถือว่าเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง เมื่อผนวกทั้งสามสิ่งเข้าด้วยกันในพิธีนี้โดยมีต้นไม้เป็นศูนย์กลาง ก็เท่ากับบ่งชี้ว่า ต้นไม้ไม่ใช่สิ่งสามานย์ (profane) หรือวัตถุที่เราจะทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ แต่เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ อันเราควรเคารพและปกป้อง
แม้การบวชต้นไม้เป็นการเคลื่อนไหวที่สำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติในไทย แต่มีการศึกษาวิจัยเรื่องนี้น้อยมาก หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มแรกก็ว่าได้ที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียด ทั้งประวัติความเป็นมา บริบททางสังคมเศรษฐกิจและการเมือง และผลกระทบ… นอกจากบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับพระสงฆ์ไทยในชนบทและบริบททางสังคมที่แวดล้อมตัวท่านแล้ว ยังตั้งคำถามที่ชวนให้คิด และอาจหาคำตอบไม่ได้ง่ายๆ อาทิ อะไรคือตำแหน่งแห่งที่ของพระสงฆ์ในสังคมสมัยใหม่ บทบาทและจุดยืนของพุทธศาสนาท่ามกลางกระแสทุนนิยมอันเชี่ยวกราก ควรจะเป็นอย่างไร “ธรรม” กับ “โลก” ควรมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร คำตอบที่สังคมเห็นพ้องจะส่งผลอย่างมากต่อทิศทางของพุทธศาสนาและพระสงฆ์ไทยในอนาคต
– พระไพศาล วิสาโล
บางส่วนจาก “คำนำ”
————————-
สถาบันสงฆ์สยามกระแสหลักถูกโจมตีว่าอยู่ฝ่ายนายทุนขุนศึกมากเกินไป โดยไม่รู้ตัวถึงจุดยืนของตน โดยที่นั่นคือพวกโค่นล้างทำลายป่าด้วยความร่วมมือของพ่อค้าตัวโตๆ อีกด้วย ในขณะที่พระนักพัฒนาที่มีชื่อและบทบาทดังที่เอ่ยไว้ในเล่มนี้เป็นฝ่ายอนุรักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อมตามวิถีพุทธอย่างน่านิยมยกย่อง
– ส. ศิวรักษ์
บางส่วนจากคำนำ
————————-
พุทธศาสนามีความสัมพันธ์กับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด การบวชต้นไม้ได้จุดประกายให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองอย่างเข้มข้น การนำจีวรไปห่มต้นไม้เพื่อปกป้องป่า เป็นเรื่องที่มีนัยลึกซึ้งเกินขอบเขตของประเด็นที่ถกเถียงกัน คำถามก็คือ เราจะบวชต้นไม้ได้หรือไม่ ในเมื่อการอุปสมบทเป็นสิ่งที่สงวนไว้สำหรับมนุษย์เท่านั้น การบวชต้นไม้ได้กลายมาเป็นประเด็นทางการเมือง เศรษฐศาสตร์ ความไม่เสมอภาค และอำนาจ ในสถานการณ์เช่นนี้ ศาสนาจะช่วยทำให้อะไรๆ ดีขึ้นได้บ้างหรือไม่? ในประเทศไทย พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีชีวิต และจนถึงทุกวันนี้ก็ยังคงตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมและวาระอันหลากหลายที่แปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา วิธีที่ผู้คนมองศาสนา และท่าทีที่พวกเขาปฏิบัติต่อศาสนา มิได้มีอิทธิพลเฉพาะต่อการมองโลกและมองความสัมพันธ์ที่เขามีกับโลกเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงสำนึกรับผิดชอบทางสังคมด้วย การบวชต้นไม้เป็นการกระทำชนิดถอนรากถอนโคน ปลุกเร้า ก่อให้เกิดการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ และท้าทายให้คนทั้งหลายเข้ามามีส่วนรับผิดชอบ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อประโยชน์ของตนเอง ของสังคม และเพื่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ
พระนักสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยได้กลายมาเป็นแบบอย่างให้กับชาวพุทธทั่วโลก พวกท่านแสดงให้เห็นว่าแก่นธรรมของพุทธศาสนาสามารถช่วยแก้ปัญหาสมัยใหม่ได้ และสาธิตให้เห็นว่าวิธีดำเนินการเองก็สามารถยืดหยุ่นได้ แม้ท่าทีที่สังคมไทยมีต่อการบวชต้นไม้จะเปลี่ยนไปจากเดิม แต่พิธีกรรมนี้ก็ยังคงไว้ซึ่งคุณค่าและเจตนารมณ์ของพระภิกษุซึ่งมุ่งมั่นที่จะยุติการทำลายสิ่งแวดล้อม สนับสนุนให้มีความยุติธรรมในสังคม และบรรเทาทุกข์ให้ผู้คน ทั้งนี้โดยอาศัยการตีความคำสอนของพุทธศาสนาเป็นหลักในการทำงาน