การละครของผู้ถูกกดขี่ (Theatre of the Oppressed)
เขียน: ออกัสโต บูอาล (Augusto Boal)
แปล: ภินท์ ภารดาม
ปีที่พิมพ์: 2561
จำนวนหน้า: 304
ISBN: 978-616-481-000-6
ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้เป็นนักปฏิบัติการทางสังคม ผู้ใช้ละครเพื่อนำไปสู่การตื่นรู้ของประชาชน การตื่นรู้ นี้เป็นนัยยะเดียวกับที่เปาโล เฟรเร กล่าวถึงในหนังสือ การศึกษาของผู้ถูกกดขี่ ที่เขาเรียกมันว่า Conscientization หรือ จิตสำนึกวิพากษ์ ซึ่งหมายถึงการที่ประชาชนตระหนักรู้ถึงอำนาจภายในของตนจนสามารถลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมของตนได้
แนวคิดหลักในหนังสือเล่มนี้คือการที่ผู้แต่งทบทวนวรรณกรรมทางด้านการละครตั้งแต่ในอดีตจนถึงยุคร่วมสมัย เพื่อชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของสุนทรียศาสตร์ของการละครในแต่ละยุคในแง่ของเครื่องมือทางวัฒนธรรม ซึ่งบางครั้งมีไว้เพื่อดำรงรักษาอำนาจของผู้อยู่ในอำนาจ เช่น ในกรณีของละครกรีกที่อริสโตเติลได้บันทึกเอาไว้ใน The Poetics หรือการละครในยุคกลางซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือของศาสนจักรในการควบคุมผู้คน ด้วยการสร้างให้เกิดความหวาดกลัวต่อบาป จนกระทั่งถึงยุคที่ชนชั้นพ่อค้ามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงสังคมโดยท้าทายกับอำนาจเดิม ผู้เขียนอ้างอิงถึง Machiavelli กับสุนทรียศาสตร์ของเขา จนกระทั่งถึงสุนทรียศาสตร์ของนักการละครผู้ยิ่งใหญ่ อย่าง Brecht ผู้ให้กำเนิดการละครที่เรียกว่า Epic Theatre ซึ่งใช้สุนทรียศาสตร์แบบมาร์กซิสมาขับเคลื่อนสังคมในสมัยนั้น
และสุดท้ายหนังสือเล่มนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการของการสร้างสุนทรียศาสตร์ของผู้ถูกกดขี่ ซึ่งเป็นแบบของออกัสโต บูอาล โดยเล่าถึงงานการละครในบราซิลและเปรู ชี้ให้ผู้อ่านได้เห็นภาพงานของเขาผ่านประสบการณ์ตรง
กระบวนการเล่าเรื่องแนววิพากษ์ของผู้เขียน มีส่วนอย่างสำคัญในการกระตุ้นหนุนเสริมให้ผู้อ่านได้ฉุกคิด ตั้งคำถามเชิงวิพากษ์ และไตร่ตรองสถานการณ์ท่ามกลางสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันอย่างเท่าทัน และท้าทายให้เราได้พัฒนาเครื่องมือของการวิพากษ์ไตร่ตรองขึ้นมาใช้ เพื่อนำพาตนเองก้าวข้ามพรมแดนไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง